เอาอยู่!!ททท.ชู 4 กลยุทธ์หลักดึงตลาดในประเทศ ยันเหตุน้ำท่วมกระทบระยะสั้น

siamrath 22/10/2022 06:17:20

สยามรัฐออนไลน์

21 ตุลาคม 2565 15:31 น.

ท่องเที่ยว

เอาอยู่!!ททท.ชู 4 กลยุทธ์หลักดึงตลาดในประเทศ ยันเหตุน้ำท่วมกระทบระยะสั้น-1

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ แห่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ด้วยสัญญาณเศรษฐกิจจากการวิเคราะห์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ยังมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลมาจากการขับเคลื่อนของภาคการท่องเที่ยว และการกระตุ้นด้านการบริโภคในภาคประชาชนของรัฐบาล  ดังนั้นกลยุทธ์การส่งเสริมตลาดในประเทศของ ททท.ปี 2565-2566 ของสำนักงานทั้ง 45 แห่ง จึงประกอบไปด้วย 4 กลยุทธ์หลัก

ซึ่งมีดังนี้ 1.กลยุทธ์ในเรื่องของความเชื่อมั่น ด้านการบริการสุขอนามัย โดยทำงานแบบบูรณาการกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะมีการปรับโครงสร้างในเรื่องของ SHA เพราะทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างชาติยังให้ความสำคัญ  2.กลยุทธ์ด้านคอนเทนต์ ยังเป็นส่วนสำคัญ เพื่อให้ตอบสนองการเดินทางท่องเที่ยวที่มีความหมายเพิ่มมากขึ้น ทั้งในเรื่องของอาหาร วัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งจะทำให้เห็นเป็นภาพทั้ง 365 วัน ด้วยการเปิดแคมเปญ 365 วันเที่ยวได้ทุกวันวันที่ 15 ธันวาคม 2565 ในงานมหกรรมเที่ยว 5 ภาคที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นการคิกออฟงานตลาดท่องเที่ยวในประเทศ ในการเปิดปีการท่องเที่ยว 2566 รวมถึงกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวเมืองรอง หรือการท่องเที่ยวในชุมชน ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติในการที่จะต้องกระจายรายได้สู่ฐานราก เพิ่มอัตราส่วนรายได้ผ่านการท่องเที่ยวเมืองรอง และการท่องเที่ยวชุมชนไม่ต่ำกว่า 45%

ขณะที่กลยุทธ์ที่ 3 ของตลาดในประเทศ เป็นกลยุทธ์ไทยแลนด์ เฟสติวัล เอ็กพีเรียน ที่ทำมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะการขายในเรื่องเฟสติวัล มันสร้างความสุข ไม่ใช่งานใหญ่ แต่สามารถตอบโจทย์อัตลักษณ์ในพื้นที่ชุมชน และเป็นบูรณาการการจัดงานได้ตรงประเด็น กลยุทธ์ที่ 4 เป็นกิจกรรมส่งเสริมการขาย โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังจะมีกิจกรรมส่งเสริมการขายนำเสนอออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้เดินทางท่องเที่ยว

ทั้งนี้  นางสาวฐาปนีย์  กล่าวว่า ความต้องการเดินทางท่องเที่ยวของชาวไทยในช่วงปลายปี น่าจะเป็นการประชาสัมพันธ์การเดินทางในช่วงฤดูหนาว ช่วงเดือนพฤศจิกายน และเดือนธันวาคม โดยมีการจัดงานใหญ่ครั้งแรกของโลกในไทยที่จังหวัดเชียงใหม่ คือ เวิด์ล เมาเท่น แทรคกิ้ง เวิด์ลแชมเปียนชิพ เป็นการแข่งขันระดับโลกที่สมาพันธ์กรีฑาโลกร่วมกับในส่วนของสมาพันธ์เทรล และสมาพันธ์เมาเท่น โดยมีนักวิ่งจากทั่วโลกที่ได้รับการคัดเลือกมาแข่งในเมืองไทย ซึ่งจะเป็นการเปิดภาพลักษณ์ใหม่ที่ไม่ใช่เป็นเรื่องของสปอร์ตทัวร์ริสซึ่มเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการยกระดับมาตรฐานการจัดงานสู่สากล

อย่างไรก็ตาม นางสาวฐาปนีย์  ยังกล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วม ว่า ตอนนี้พื้นที่โดยรวมได้รับผลกระทบมีประมาณ 29 จังหวัดหนักเบาแตกต่างกันไป ซึ่งทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ถ้าส่วนไหนไปกระทบกับแหล่งท่องเที่ยว หรือนักท่องเที่ยวก็จะรีบเข้าไปช่วย อย่างเช่น สัปดาห์ที่ผ่านมา มีน้ำท่วมใหญ่ในจังหวัดภูเก็ต มีนักท่องเที่ยวตกค้างไม่สามารถเดินทางไปยังสนามบินได้ ตรงจุดนี้ทางททท.สำนักงานภูเก็ตได้ประสานงานโดยตรงกับผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยวเข้าช่วยเหลือนักท่องเที่ยวให้เดินทางได้อย่างปลอดภัย ก็ได้รับความประทับใจจากนักท่องเที่ยว

ดังนั้นเวลานี้ผลของงน้ำท่วมกระทบบ้างเพราะเกิดเหตุการณ์ตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคม ซึ่งในส่วนของการท่องเที่ยวได้หยุดชะงัก แต่ในเรื่องของวันหยุดยาวก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อัตราการเข้าพักเพิ่มมากขึ้น โดยเวลานี้ได้คาดหวังว่า สถานการณ์น้ำท่วมในช่วงปลายเดือนตุลาคมน่าคลี่คลายลง ด้วยจะมีการจัดงานใหญ่ในเดือนพฤศจิกายน และในเดือนธันวาคมเพื่อดึงนักท่องเที่ยวระยะไกลเดินทางเข้ามาเพิ่มมากขึ้น

โดย นางสาวฐาปนีย์ กล่าวถึง อัตราการจองห้องพักในช่วง 3 เดือนสุดท้าย จังหวัดที่ได้รับความนิยมในอันดับต้น มีทั้ง ภูเก็ต พังงา กระบี่ ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี  รวมทั้ง กาญจนบุรี และกรุงเทพฯ ต่างมียอดจองมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยถึง 72%  ขณะที่อัตราการจองในสายการบินตามเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น ภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่ เชียงราย อุดรธานี ขอนแก่น อุบลราชธานี และสุโขทัย มีอัตราโหลดแฟกเตอร์อยู่ที่ 86% (ข้อมูลวันที่ 15 ตุลาคม 2565)

อย่างไรก็ตามในส่วนของโหลดแฟกเตอร์นั้นในช่วงสถานการณ์น้ำท่วมมีการยกเลิกในบางพื้นที่ อย่างอุบลราชธานี ที่เดินทางลำบาก และพื้นที่อื่นๆ มีการยกเลิกแต่ไม่ถึง 5% ขณะที่ในส่วนของอัตราการเข้าพักมีการยกเลิกประมาณ10% เพราะบางพื้นที่ อย่างกระบี่เวลานี้มีน้ำหลาก หรือภูเก็ต มีการยกเลิก 8-10%ในช่วงวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นในช่วงปลายเดือนตุลาคม ในส่วนอัตราการเข้าพัก และโหลดแฟกเตอร์น่าจะดีกว่าเดิม

พร้อมกันนี้ นางสาวฐาปนีย์ กล่าวว่า  ยอดการจองปลายเดือนตุลาคมน่าจะกลับที่ประมาณ 40-50% และในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคม ตั้งเป้าในอัตราการเข้าพักในพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก ซึ่งจากการดูจำนวนจาการประมาณการในจำนวนห้องพักที่เปิดให้บริการน่าจะต้องไม่ต่ำกว่า 70% ซึ่งจะทำให้ภาพรวมอยู่ที่ 50-55%

เชื่อมต่อ

นอกจากนี้

ดูอีกครั้งสิ