ป้าม่วงสู้ๆ! การบินไทยเสริมแกร่งฝูงบิน BOEING 777-300ER รองรับ Demand โตต่อเนื่อง

thairath 21/10/2022 05:46:20
ป้าม่วงสู้ๆ! การบินไทยเสริมแกร่งฝูงบิน BOEING 777-300ER รองรับ Demand โตต่อเนื่อง-1

เมื่อวันอังคารที่ 18 ตุลาคม และวันพุธที่ 19 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม ประกอบพิธีเจิมเครื่องบิน Boeing 777-300ER นามพระราชทาน “อลงกรณ์” (ALONGKORN) และ “ศรีมงคล” (SIMONGKHON) โดยมี นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ฝ่ายบริหารของบริษัทฯ และแขกผู้มีเกียรติร่วมในพิธี ณ โรงซ่อมอากาศยาน (Hangar) สายช่าง การบินไทย สุวรรณภูมิ และมีกำหนดจัดพิธี เจิมเครื่องบิน Boeing 777-300ER อีก 1 ลำ “เทพราช” (THEPARAT) ในวันที่ 26 ตุลาคม ศกนี้

SPONSORED

เครื่องบิน Boeing 777-300ER ทั้ง 3 ลำใหม่ข้างต้นเข้าประจำการในฝูงบินของบริษัทในปี 2565 นี้ เป็นเครื่องบินพิสัยไกลที่มีประสิทธิภาพสูง ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้รับพัฒนาการตกแต่งภายในห้องโดยสารในแต่ละชั้นบริการให้มีความสะดวกสบายและทันสมัย อีกทั้งยังเป็นเครื่องบินที่ประหยัดน้ำมัน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องบินที่มีความปลอดภัยที่สุดรุ่นหนึ่งในปัจจุบันให้บริการในเส้นทางจากกรุงเทพฯ ไปยังจุดบินต่างๆ ได้แก่ ลอนดอน โตเกียว (นาริตะ) และโอซากา

เครื่องบินแบบโบอิ้ง 777-300ER ทั้ง 3 ลำ ให้บริการ 3 ชั้นโดยสาร ได้แก่ ชั้นหนึ่ง 8 ที่นั่ง ชั้นธุรกิจ ที่สามารถปรับเก้าอี้เอนนอนราบได้ 180 องศา 40 ที่นั่ง และชั้นประหยัด 255 ที่นั่ง มีการออกแบบการใช้พื้นที่ภายในอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการเก็บสัมภาระของผู้โดยสารและเพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้น พร้อมระบบสาระบันเทิงรุ่นใหม่ล่าสุด Panasonic EX3 หน้าจอ full HD ที่ให้ความคมชัดและหน้าจอที่ใหญ่ขึ้น พร้อมทั้ง USB port ที่สามารถชาร์จ iPad ได้ มีระบบ Wi-Fi เพื่อการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่รวดเร็วกว่าเดิม ด้วยระบบ KU band

SPONSORED

นอกจากนี้ การบินไทยได้ทยอยนำเครื่องบินของบริษัท Airbus A330-300 ซึ่งให้บริการที่นั่งในชั้นธุรกิจแบบปรับเอนนอนราบ (Flat Bed) จำนวน 3 ลำ กลับเข้ามาให้บริการในเส้นทางฟุกุโอกะ และโตเกียว (ฮาเนดะ) ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป รวมถึงเครื่องบิน Boeing 777-200ER จำนวน 2 ลำ มาให้บริการเพิ่มเติมในเส้นทางมุมไบ จาการ์ตา และเดนปาซาร์ จากที่ได้นำเครื่องบิน Boeing 777-200ER ดังกล่าวจำนวน 4 ลำ กลับมาให้บริการในเส้นทางประเทศอินเดียตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้เป็นต้นมา เพื่อรองรับความต้องการเดินทางที่เติบโตอย่างต่อเนื่องใน 9 เดือนแรกของปี 2565 อันเป็นผลจากการผ่อนคลายและยกเลิกมาตรการควบคุมและจำกัดการเดินทางของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ส่งผลให้อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ของบริษัทในช่วง 10 วันแรกของเดือนตุลาคม 2565 ปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับ 80% มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 17,554 คน/วัน จาก 2,092 คน/วัน ในเดือนมกราคม 2565 และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในช่วงฤดูท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 4 ของปี ไปจนถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 โดยบริษัทฯ มีความมั่นใจว่าจะสามารถสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้โดยสาร และบรรลุเป้าหมายรายได้ที่กำหนดไว้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ

SPONSORED

เครื่องบินโดยสารสองเครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพด้านการบินระยะไกลและการใช้เชื้อเพลิง Boeing 777 เป็นเครื่องบินโดยสารแบบสองเครื่องยนต์ลำตัวกว้างที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เครื่อง 777-300ER ได้รับการพัฒนามาเพื่อการบินเดินทางระยะไกล จากการออกแบบโครงสร้างและขั้นตอนต่างๆ ของงานดีไซน์ผ่านคอมพิวเตอร์ในทุกขั้นตอน ระบบบินแบบ Fly by Wire เป็นรุ่นแรกของบริษัท Boeing โดยมีพิสัยบิน หรือระยะบินทั้งแบบปานกลางและไกล รองรับจำนวนผู้โดยสารได้มากถึง 315-550 ที่นั่ง ปัจจุบัน เครื่อง Boeing 777 มีรุ่นแยกย่อยถึง 6 รุ่น คอยให้บริการการเดินทางทางอากาศทั่วโลก เช่น 777-200 / 777-200LR / 777-200ER / 777-300 / 777-300ER และ 777 Freighter เครื่อง Cargo สำหรับการบินขนส่งบรรจุภัณฑ์หรือสินค้าที่ต้องการความรวดเร็วในการขนส่ง

SPONSORED

Boeing พัฒนาเครื่องบินโดยสารรุ่นนี้เมื่อช่วงปลายยุค 1980 จากความต้องการและปริมาณของผู้คนที่เดินทางทางอากาศที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี รวมถึงบรรดาสายการบินพาณิชย์ทั่วโลกที่มีความต้องการเครื่องบินรุ่นใหม่ที่จุผู้โดยสารได้มากกว่าเก่า กับความประหยัดในด้านเชื้อเพลิงและค่าบำรุงรักษา เครื่อง 777 มีค่าปฏิบัติการที่ต่ำกว่าเครื่องบินพาณิชย์แบบอื่นๆ อยู่พอสมควร เป็นการเข้ามาทดแทนอากาศยานรุ่นเก่าที่เริ่มปลดประจำการ เนื่องจากชั่วโมงบิน และเข้ามาแทนที่เครื่องบินโดยสารที่มีเครื่องยนต์มากกว่า 2 เครื่อง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า จากการประกาศรับรองของ ETOPs หรือ Extended Range Twin Engine Operational Performance Standards ที่อนุมัติให้เครื่องบินโดยสารแบบ 2 เครื่องยนต์สามารถบินข้ามมหาสมุทรได้

สำหรับ 777-200 นั้น นับเป็นเครื่องบินโดยสารรุ่นแรกที่ได้รับการออกแบบให้มีความยาว 63.7 เมตร ปีกกว้าง 60.9 เมตร โดยทำการติดตั้งเครื่องยนต์สมรรถนะสูงแบบเทอร์โบแฟน จำนวน 2 เครื่องยนต์ ที่ให้กำลังขับถึงเครื่องละ 70,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว 777-200 ขึ้นบินเป็นครั้งแรกในวันที่ 12 มิถุนายน 2537 หลังจากนั้นได้มีการส่งมอบให้กับสายการบินพาณิชย์ทั่วโลก ประสิทธิภาพทางการบินระยะไกลถึง 9,700 กิโลเมตร รวมถึงความจุผู้โดยสารระหว่าง 314-440 ที่นั่ง ทำให้มันขึ้นถึงจุดสูงสุดของเครื่องบินโดยสารสมัยใหม่อย่างรวดเร็ว ในปี 2539 Boeing ได้เพิ่มเติมประสิทธิภาพของ 777-200 พร้อมกับตัวอักษร ER ต่อท้าย หรือ Extended Range ซึ่งติดตั้งเครื่องยนต์รุ่นใหม่เพิ่มเติมแรงขับขึ้นเป็น 90,000 ปอนด์ ช่วยเพิ่มพิสัยบินให้กว้างไกลมากยิ่งขึ้นเป็น 14,310 กิโลเมตร เครื่อง 777-200ER ขึ้นบินทดสอบครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2539 หลังจากนั้นทาง Boeing ได้ทำการส่งมอบให้กับสายการบินต่างๆ ที่สั่งซื้อจากความต้องการในการเพิ่มจำนวนของผู้โดยสารและระยะบินให้ไกลมากยิ่งขึ้นเพื่อครอบคลุมเส้นทางการบินทั่วโลก

จากยอดขายที่ดีอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัท Boeing ทำการพัฒนาต่อยอดเครื่องบินโดยสารในตระกูล 777 ออกไปอีก โดยนำมาเพิ่มความยาวของลำตัวจากเดิม 63.7 เมตร เป็น 73.9 เมตร เปลี่ยนขุมกำลังใหม่ซึ่งเป็นเครื่องยนต์เทอร์โบแฟนที่สามารถให้แรงขับดันมหาศาลที่ 98,000 ปอนด์ โดยใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า Boeing 777-300 สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากถึง 386-550 ที่นั่ง (แล้วแต่การตกแต่งของแต่ละสายการบิน) เครื่อง 777-300 มีพิสัยบินปฏิบัติการที่ 11,120 กิโลเมตร ขึ้นบินทดสอบเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2540 หลังจากนั้นจึงทยอยส่งมอบให้กับสายการบินที่สั่งซื้อในวันที่ 21 พฤษภาคม 2541

มาถึงปี พ.ศ.2546 ค่าย Boeing ได้ทำการเปิดตัวเครื่องบินโดยสารรุ่นใหม่ล่าสุดที่เพียบพร้อมไปด้วยนวัตกรรมการบินล่าสุด โดยใช้ชื่อว่า Boeing 777-300ER และมีความยาวลำตัวกับจำนวนผู้โดยสารเท่ากับ 777-300 เครื่องรุ่นใหม่ล่าสุดได้รับการติดตั้งปีกแบบใหม่ซึ่งช่วยทำให้บินได้ดีขึ้น และประหยัดเชื้อเพลิงมากยิ่งขึ้น ปีกแบบใหม่ของ 777-300ER มีความกว้างถึง 64.8 เมตร ผลิตจากวัสดุผสมเพื่อทำให้มันมีน้ำหนักที่เบาและแข็งแรงมากยิ่งขึ้น เครื่องบินโดยสาร Boeing 777-300ER เปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ของ General Electric รุ่น 90-115B (GE90-115B) มันคือเครื่องยนต์เทอร์โบแฟนรุ่นใหม่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกการบินพาณิชย์ ให้แรงขับดันมากถึง 115,300 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เพิ่มระยะบินให้ไกลถึง 14,690 กิโลเมตร เครื่องบิน 777-300ER ขึ้นบินทดสอบครั้งแรกในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546 และทำการส่งมอบให้กับสายการบินต่างๆ ไปเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2547

พ.ศ.2549 Boeing นำ 777-200 กลับมาปรับปรุงเพิ่มเติมประสิทธิภาพทางการบินอีกครั้ง โดยยังคงความจุผู้โดยสารไว้เท่าเดิม แต่ปรับเปลี่ยนปีกให้มีความกว้างมากยิ่งขึ้น เพิ่มขนาดและความสูงของแพนหางระดับ รวมถึงการเปลี่ยนเครื่องยนต์ให้มีแรงขับดันมากขึ้นเป็น 110,000 ปอนด์ โดยใช้ชื่อว่า Boeing 777-200LR-Longer Range ซึ่งในภายหลังได้กลายมาเป็นเครื่องบินโดยสารแบบสองเครื่องยนต์ที่มีพิสัยบินไกลที่สุดในตระกูล 777 ครองสถิติเครื่องบินโดยสารที่บินได้ไกลมากที่สุดในโลกด้วยระยะบินเดินทางรวดเดียว 17,370 กิโลเมตร เครื่อง 777-200LR ขึ้นทำการบินเป็นครั้งแรกในวันที่ 8 มีนาคม 2548 หลังจากนั้น Boeing ได้ทำการส่งมอบให้กับสายการบินที่สั่งซื้อในปี 2549

ในปี 2551 บริษัท Boeing เปิดตัวเครื่องบินขนส่งรุ่นใหม่ Boeing 777 Freighter ซึ่งเป็นเครื่อง 777 รุ่นแรกสุดที่ใช้สำหรับการขนส่งสินค้าทางอากาศ เครื่องบินรุ่นนี้มีคุณลักษณะภายนอกคล้ายกับ 777-200LR โดยมีความยาวลำตัว 63.7 เมตร ปีกกว้าง 64.8 เมตร ติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบแฟน 2 เครื่อง แต่ละเครื่องให้แรงขับดัน 110,000 ปอนด์ มีพิสัยบินที่ 9,070 กิโลเมตร เครื่อง Boeing 777 Freighter ขึ้นทดสอบเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2551 หลังจากนั้นจึงทยอยส่งมอบให้กับลูกค้าในช่วงต้นปี 2552 สำหรับเครื่อง 777 Freighter มีความแตกต่างจาก Boeing 777 รุ่นอื่นๆ คือไม่มีช่องหน้าต่างสำหรับผู้โดยสาร เนื่องจากเป็นเครื่องบินแบบขนส่งนั่นเอง

20 ปี นับจาก Boeing 777 ลำแรก ขึ้นทดสอบการบิน บริษัท Boeing ยังคงพัฒนาเครื่องบินตระกูลนี้อย่างต่อเนื่อง ในเดือนกันยายน 2554 บริษัท Boeing ได้ทำการนำเสนอเครื่อง 777 รุ่นใหม่ล่าสุดจำนวนสองรุ่นคือ Boeing 777-8X และ 777-9X สำหรับเครื่องบิน Boeing 777-8X มีความยาวลำตัวเพิ่มเป็น 69.5 เมตร ส่วน Boeing 777-9X มีความยาวรวม 76.5 เมตร เครื่องบินรุ่นล่าสุดทั้งสองโมเดลใช้ปีกรุ่นใหม่ผลิตจากวัสดุผสมพวกคาร์บอน คอมโพสิต วิศวกรของ Boeing ยังได้ทำการขยายความยาวของปีกออกไปอีกเป็น 71.3 เมตร ในเครื่อง 777-9X พร้อมๆ ไปกับการติดตั้งเครื่องยนต์รุ่นใหม่ในรหัส GE-9X ซึ่งพัฒนาต่อยอดมาจากเครื่องยนต์ในตระกูล GE-90 โดยทำการลดแรงขับดันลงเหลือ 99,500 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว สำหรับ Boeing 777-9X ส่วนรุ่น 777-8X นั้น คาดว่ามันจะจุผู้โดยสารได้ 353 ที่นั่ง โดยมีพิสัยบินไกลถึง 17,557 กิโลเมตร เป็นการท้าชนกับคู่ต่อสู้ในตลาดเครื่องบินพาณิชย์กับค่าย Airbus ซึ่งมีเครื่องรุ่นใหม่ Airbus A350-1000 ส่วน Boeing 777-9X นั้นมีความจุผู้โดยสารระหว่าง 407 ที่นั่ง และมีพิสัยบินไกลถึง 15,000 กิโลเมตร.

เอกสารอ้างอิง ข้อมูลประกอบบทความจาก
THE AERO issue 2 
อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th

Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom

https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/

SPONSORED

เชื่อมต่อ

นอกจากนี้

ดูอีกครั้งสิ