เปิดตัวเพจ ‘หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล’ ผู้บุกเบิกการเรียนการสอนปวศ.ศิลปะในไทย เนื่องใน 100 ปีชาตกาล

matichon 17/10/2022 03:02:19
เปิดตัวเพจ ‘หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล’ ผู้บุกเบิกการเรียนการสอนปวศ.ศิลปะในไทย เนื่องใน 100 ปีชาตกาล-1

คณะกรรมการอำนวยการจัดงาน ‘100 ปี ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล’ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดตัวเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล‘ สำหรับเผยแพร่พระประวัติ และพระนิพนธ์ รวมถึงงานที่เกี่ยวเนื่อง โดยจะมีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ เพื่อนำรายได้เข้ากองทุนหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ผู้ทรงเป็นบูรพาจารย์ท่านสำคัญ ที่ทรงวางรากฐานการเรียนการสอนของคณะโบราณคดีตั้งแต่เริ่มก่อตั้งคณะ ในปี พ.ศ. 2498 โดยเฉพาะวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ทรงเป็นนักวิชาการด้านโบราณคดี และประวัติศาสตร์ศิลปะที่มีชื่อเสียง มีผลงานวิชาการที่เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและนานาชาติ รวมทั้งผลงานทางวิชาการที่ทรงเคยปฏิบัติงานและร่วมงานกับองค์กรต่าง ๆ เป็นจำนวนมากจนเป็นที่ประจักษ์

เปิดตัวเพจ ‘หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล’ ผู้บุกเบิกการเรียนการสอนปวศ.ศิลปะในไทย เนื่องใน 100 ปีชาตกาล-2

ทรงพระเยาว์

หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ประสูติเมื่อวันศุกร์ ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466 เป็นโอรสลำดับที่ 31 ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชุภาพ และเป็นโอรสลำดับที่ 6 ที่ประสูติแต่หม่อมเจิม ดิศกุล ณ อยุธยา ซึ่งในขณะที่หม่อมเจิมกำลังตั้งครรภ์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศอยู่นั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา หรือที่หม่อมเจ้าสุภัทรดิศมักจะทรงเรียกว่าเสด็จอา ได้ทรงขอไว้ว่าจะทรงรับอุปการะเลี้ยงดู จวบจนเมื่อเจริญพระชันษาได้ 1 เดือน หม่อมเจิมจึงได้ถวายแด่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา กระทั่งหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ เจริญพระชันษาได้ 11 ปี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา ก็ได้สิ้นพระชนม์ จึงทรงกลับมาประทับที่วังวรดิศ ร่วมกับพระมารดาและพระโอรสธิดาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงชาชานุภาพ องค์อื่น ๆ แต่ในช่วงเวลานั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทับอยู่ที่ปีนัง

เปิดตัวเพจ ‘หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล’ ผู้บุกเบิกการเรียนการสอนปวศ.ศิลปะในไทย เนื่องใน 100 ปีชาตกาล-3

การศึกษา

เมื่อทรงพระเยาว์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา ทรงส่งเข้าศึกษาชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนขัตติยานีผดุง ที่ทรงก่อตั้งขึ้น ต่อจากนั้นจึงทรงส่งเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย จนเมื่อทรงสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาแล้ว จึงทรงสอบเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทรงสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาทางด้านอักษรศาสตร์จนทรงสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีในปี พ.ศ. 2486
.
จากนั้นในปี พ.ศ. 2491 ทรงได้รับทุนจากบริติชเคาน์ซิลให้เสด็จไปทอดพระเนตรงานด้านการพิพิธภัณฑ์และโบราณคดี ณ ประเทศอังกฤษ แล้วจึงตั้งพระทัยที่จะศึกษาต่อด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีที่โรงเรียนลูฟ ปารีส ประเทศฝรั่งเศส จนสำเร็จการศึกษา และจะทรงศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่อังกฤษ แต่ยังมิทันสำเร็จก็มีเหตุให้เสด็จกลับเมืองไทยก่อน ในปี พ.ศ.2496

เปิดตัวเพจ ‘หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล’ ผู้บุกเบิกการเรียนการสอนปวศ.ศิลปะในไทย เนื่องใน 100 ปีชาตกาล-4

การทรงงาน

ภายหลังจากที่ทรงสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีแล้ว ทรงเข้าทำงานในกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และย้ายไปเป็นหัวหน้าแผนกหอสมุดดำรงราชานุภาพ สังกัดกรมศิลปากร จนกระทั่งทรงได้รับทุนจากบริติชเคาน์ซิลให้เสด็จไปทอดพระเนตรงานด้านการพิพิธภัณฑ์และโบราณคดี ภายหลังได้ทรงศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาและเสด็จกลับไทยในปี พ.ศ. 2496 ก็ยังทรงปฏิบัติงานในกรมศิลปากรอยู่ แต่ย้ายมาประจำตำแหน่งภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งในเวลานั้นยังคงรวมอยู่กับกองโบราณคดี นอกจากงานในกรมศิลปากรแล้ว มักจะทรงเป็นวิทยากร ถวายการนำชม และทรงนำชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทยแด่แขกคนสำคัญของบ้านเมือง ทั้งพระประมุขและประมุขของชาติต่าง ๆ ที่มาเยือนประเทศไทยโดยตลอด
.
นอกจากนี้ระหว่างที่ทรงเป็นภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ก็ทรงสอนนักศึกษาของคณะโบราณคดี และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั่วประเทศด้วย กระทั่งทรงได้รับโอนย้ายไปดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จนเกษียณอายุราชการแล้วจึงทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ภายใต้องค์การรัฐมนตรีศึกษาธิการแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SPAFA และ คณะกรรมการต่าง ๆ ของกรมศิลปากรอยู่ตลอด

เปิดตัวเพจ ‘หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล’ ผู้บุกเบิกการเรียนการสอนปวศ.ศิลปะในไทย เนื่องใน 100 ปีชาตกาล-5

ท่านอาจารย์

จิตวิญญาณของความเป็น “ครู” ของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล คงเริ่มฉายแววชัดในพระทัย ตั้งแต่ทรงศึกษาในระดับปริญญาตรีที่คณะอักษรศาสตร์ เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีรับสั่งกับหม่อมเจิม ว่า “หม่อมเจิม ฉันเสียดายที่ลูกคนนี้เกิดมาช้าไป ถ้าฉันยังอยู่กระทรวงมหาดไทยฉันจะฝึกเอง” แต่หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ เองกลับทรงรู้สึกดีใจเพราะทรงอยากเป็นครูเสียมากกว่า
.
ในขณะที่ทรงงานในตำแหน่งภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยังทรงมีหน้าที่เป็น “อาจารย์” อีกด้วย โดยทรงวางรากฐานการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ และโบราณคดี แก่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม หรือ มหาวิทยาลัยศิลปากรในเวลาต่อมา ทรงวางหลักสูตรการศึกษาของนักศึกษาเช่นเดียวกับที่ทรงได้รับการศึกษามาจากประเทศ และต่อมาภายหลังจึงทรงโอนย้ายมาเป็นศาสตราจารย์ของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และทรงดำรงตำแหน่งทั้งทางด้านบริหาร จนเกษียณอายุราชการในปี 2529 แต่ก็ยังคงเสด็จเข้ามาสอนที่คณะโบราณคดีอยู่เสมอจนประชวร ในปี 2540
.
ถึงแม้ว่าจะทรงเป็นหม่อมเจ้า แต่ก็ไม่ได้ทรงถือพระองค์ ทรงเป็นกันเองและไม่ได้ทรงเคร่งครัดเรื่องการใช้ราชาศัพท์เท่าใดนักกับบรรดานักศึกษาและบุคคลใกล้ชิด จึงทรงได้รับความเคารพนับถือและเป็น “ท่านอาจารย์” ของบรรดาศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่า

เปิดตัวเพจ ‘หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล’ ผู้บุกเบิกการเรียนการสอนปวศ.ศิลปะในไทย เนื่องใน 100 ปีชาตกาล-6

เกียรติประวัติและความภาคภูมิพระทัย

สำหรับเกียรติประวัติและความภาคภูมิพระทัยของ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ท่านได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ใน ชีวิตและงาน ซึ่งเป็นพระประวัติส่วนองค์ว่า
.
“…ถ้าหากจะมีผู้ถามข้าพเจ้าว่าในชีวิตของข้าพเจ้า ๆ ภูมิใจในผลงานอะไรมากที่สุด ข้าพเจ้าก็ใคร่ขอตอบว่ามีอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรกก็คือ การสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะของข้าพเจ้า เพราะข้าพเจ้าคิดว่าเป็นคนแรกที่มาเปิดสอนวิชาดังกล่าวในประเทศไทย เรื่องที่สองคือ ประเทศไทยสามารถทวงคืนทับหลังศิลารูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่ปราสาทพนมรุ้ง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ กลับคืนมาได้”
.
โดยทรงเล่าเรื่องเกี่ยวกับทับหลังชิ้นได้กล่าวไว้ว่า “…ในครั้งนั้นมีการนำโบราณวัตถุประเทศไทยไปแสดงที่สหรัฐอเมริกาเป็นครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2515 ข้าพเจ้าได้รับเชิญไปบรรยายตามสถานที่ต่างๆ เพื่อให้ชาวอเมริกาได้รู้จักศิลปะไทย ข้าพเจ้าไปบรรยายที่สถาบันศิลปะแห่งเมืองชิคาโก พอบรรยายเสร็จมีเวลาเหลือเจ้าหน้าที่สถาบันศิลปะแห่งนั้นได้เข้ามาถามว่าอยากดูโบราณวัตถุเอเชียของเราไหม ข้าพเจ้าตอบไปว่าเอาสิ เขาก็พาไปดู ก็พบทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ซึ่งคนไทยหลายคนที่ไปที่นั่นเคยเห็นมาแล้ว แต่ไม่มีใครทราบว่ามาจากปราสาทหินพนมรุ้ง ในประเทศไทย เมื่อข้าพเจ้าเห็นเข้า ข้าพเจ้าทราบทันทีว่ามาจากปราสาทหินพนมรุ้ง ที่สามารถบอกได้เพราะข้าพเจ้าเคยผลิตหนังสือกรมศิลปากร ซึ่งมีการตีพิมพ์ภาพทับหลังชิ้นนี้ในหนังสือมาก่อน และข้าพเจ้าเป็นคนตรวจปรู๊ฟเอง จึงจำได้อย่างแม่นยำ เมื่อกลับมาถึงประเทศไทย ข้าพเจ้าจึงทำหนังสือรายงานไปที่อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้นเพื่อขอทับหลังคืน ซึ่งต้องใช้เวลาติดต่อนานถึงกว่า 10 ปี จึงได้กลับคืนมา…”

เปิดตัวเพจ ‘หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล’ ผู้บุกเบิกการเรียนการสอนปวศ.ศิลปะในไทย เนื่องใน 100 ปีชาตกาล-7

บทนิพนธ์ทางวิชาการ

บทนิพนธ์ทางวิชาการ ของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ที่ทรงประดับไว้ในบรรณพิภพนั้น ทั้งที่เป็นตำราทางวิชาการ หนังสือนำชม หนังสือทรงแปลจากภาษาต่างประเทศ หนังสือที่ทรงชำระใหม่ หนังสือรวมบทความ บทความวิชาการที่ตีพิมพ์ลงในวารสารต่าง ๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ จำนวนหลายร้อยเรื่อง เช่น เทวรูปสัมฤทธิ์สมัยสุโขทัย ศิลปะอินเดีย ศิลปะลังกา ชวา ขอม เที่ยวเมืองลังกา ศิลปะอินโดนีเซียสมัยโบราณ ประติมากรรมขอม ศาสนาพราหมณ์ในอาณาจักรขอม ศิลปะในประเทศไทย เป็นต้น และนับเป็นมรดกทางความรู้ที่ทรงทิ้งไว้อย่างมหาศาล อาจกล่าวได้ว่าการนิพนธ์หนังสือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของท่านที่แยกจากกันไม่ได้

เปิดตัวเพจ ‘หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล’ ผู้บุกเบิกการเรียนการสอนปวศ.ศิลปะในไทย เนื่องใน 100 ปีชาตกาล-8

พระปัจฉิมกาล

ภายหลังจากที่ทรงเกษียณอายุราชการแล้วและประชวรด้วยโรคพระหทัย ซึ่งทรงได้รับการผ่าตัดแล้ว แต่ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ก็ยังทรงทำงานอยู่เรื่อยมา ทั้งงานสอนในคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และการเป็นคณะกรรมการต่าง ๆ ของทางราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวเนื่องกับศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ศิลปะ และโบราณคดี ตามปรกติ กระทั่งวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ทรงลื่นล้มในห้องสรง และประชวรทรุดลงตามลำดับ จนสิ้นชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 สิริพระชันษาได้ 80 ปี

เชื่อมต่อ

นอกจากนี้

ดูอีกครั้งสิ