เดินหน้าชน : อนาคตการศึกษา

matichon 18/10/2022 04:02:14

เดินหน้าชน : อนาคตการศึกษา

ในการประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง พ.ศ.2565 ที่จะเริ่มช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ไปจนถึงเดือน กุมภาพันธ์ 2566 มีร่าง พ.ร.บ.ที่สำคัญหลายฉบับจ่อคิวบรรจุวาระพิจารณา

ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … เป็นหนึ่งในร่างกฎหมาย ที่รอพิจารณาในวาระ 2 และ 3 น่าจะมีผลบังคับใช้ได้อย่างเร็วในช่วงปี 2566

หลังจากที่ผลักดันกันมาอย่างยาวนาน หากนับตั้งแต่สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการวาระแรกพฤศจิกายน 2564 จะใช้เวลากว่า 1 ปี ถือว่าใช้เวลาค่อนข้างนาน หากเทียบกับร่าง พ.ร.บ.บางฉบับ

ความสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เป็นสิ่งที่หลายคนคาดหวังว่าจะสามารถช่วยพัฒนาการศึกษาของไทยในอนาคตให้ดีขึ้นกว่าสภาพในปัจจุบันนี้

เป็นการออกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาในรอบ 23 ปี ทดแทนฉบับปัจจุบัน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

มาตรา 6 การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาบุคคล ให้มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติ ปัญญา ความรู้ และคุณธรรม เป็นคนดี มีวินัย รู้จักสิทธิ ควบคู่กับหน้าที่และความรับผิดชอบ ภูมิใจและตระหนักในความสำคัญของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รู้จักรักษาประโยชน์ส่วนรวมและของประเทศชาติ มีทักษะการเรียนรู้ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิต สอดคล้องและเท่าทันพัฒนาการของโลก

มาตรา 8 กำหนดการพัฒนา ฝึกฝน และบ่มเพาะให้ผู้เรียนมีสมรรถนะใน 7 ช่วงวัย ตั้งแต่แรกเกิด-ระดับอุดมศึกษาหรือทักษะอาชีพชั้นสูง

ยกตัวอย่าง ช่วงวัยที่ 1 ตั้งแต่แรกเกิดจนมีอายุครบหนึ่งปี ต้องได้รับการเลี้ยงดู ให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์ การพัฒนาทางอารมณ์ และการกระตุ้นการรับรู้ทางประสาทสัมผัส

ช่วงวัยที่ 4 อายุเกิน 6-12 ปี มีทักษะในการอ่าน เขียน และใช้ภาษาไทย มีความฉลาดรู้ทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และวิทยาการคำนวณ สามารถใช้ภาษาต่างประเทศในชีวิตประจำวัน มีความรู้เกี่ยวกับประเทศไทย ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม

ช่วงวัยที่ 6 อายุเกิน 15-18 ปี กำหนดเป้าหมายมีความพร้อม ความรู้ หรือฝีมือ ในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพด้านใดด้านหนึ่งและเป้าหมายด้านการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา

ช่วงวัยที่ 7 ระดับอุดมศึกษาหรือทักษะอาชีพชั้นสูง มีทักษะในการค้นคว้าและแสวงหาความรู้ เพิ่มเติม แก้ไขอุปสรรคหรือสถานการณ์ที่เลวร้ายได้ มีความรู้ในภาษาต่างประเทศในระดับ ที่ใช้ประกอบอาชีพได้ และเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่ตนศึกษา สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติงาน สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ

โดยในการจัดการศึกษาให้เป็นหน้าที่หรือสิทธิของรัฐ เอกชน บิดามารดา ผู้ปกครอง

อีกประเด็นสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือการปรับโครงสร้างการบริหารของกระทรวงศึกษาครั้งใหญ่ ลดความเทอะทะ จากเดิมที่มี 5 หน่วยงานหลัก ที่มีผู้บริหารระดับ 11 ถึง 5 คน จะปรับให้เหลือเพียงปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เท่านั้น

มีการกระจายอำนาจการบริหารไปยังส่วนกลางผ่านสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา

โดยจะต้องออกกฎหมายลูกมารองรับหลังร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ประกาศใช้

ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะพลิกโฉมการศึกษาไทยได้แค่ไหน เป็นสิ่งที่หลายคนตั้งคำถาม “สมพงษ์ จิตระดับ” นักวิชาการที่ศึกษาและเกาะติดการศึกษาไทยมาอย่างยาวนาน

มองว่า “ร่างนี้จะเน้นการเรียนการสอน เน้นตัวนักเรียน การพัฒนาเด็กจะสัมพันธ์กับหลักสูตรสมรรถนะผู้เรียน มีการกำหนดช่วงชั้นอายุที่สอดคล้องกับวิธีการเรียนการสอน แต่ปัญหาที่น่าห่วงในช่วงเปลี่ยนผ่าน ครูส่วนใหญ่จะเคยชินกับการเรียนการสอนแบบเดิมตาม พ.ร.บ.การศึกษา 2542 เวลาเปลี่ยนแปลงจึงยาก นอกจากนี้การเปลี่ยนกฎหมายอย่างเดียวคงไม่พอ ในระดับจังหวัดควรต้องมีสมัชชาการศึกษาเข้ามาร่วมด้วย

ส่วนการออกกฎหมายลูกต้องให้ภาคประชาสังคมเข้ามาร่วม ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการออกกฎหมายโดยข้าราชการ

ส่วนจะพลิกโฉมการศึกษาไทยนั้นประเมินไว้ว่าน่าจะอยู่ที่ 20-30%”

หากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองอะไร ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้น่าจะผ่านฉลุย

เป็นอีกหนึ่งความหวังกับอนาคตการศึกษาไทย

สุพัด ทีปะลา

เชื่อมต่อ

นอกจากนี้

ดูอีกครั้งสิ