พาย้อน “ไทม์ไลน์” 11 เดือน ต่อ 11 ชั่วโมง ก่อน บิ๊กดีล “ทรู-ดีแทค” จะฉลุย!!

dailynews 22/10/2022 09:34:37

กลายเป็น“บิ๊กดีล” ในแวดวงธุรกิจที่ซับซ้อนและลากยาวมาเป็นเวลาเกือบปีแล้ว สำหรับกรณี การ ควบรวม “ทรู-ดีแทค” สองบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ ที่จับมือประกาศควบรวม อย่างเป็นทางการ เมื่อ 22 พ.ย.64 และก็ยื้อมา 11 เดือน

จนล่าสุดที่ บอร์ด กสทช.ใช้เวลา 11 ชั่วโมง ถกพิจารณาลงมติ ไปเมื่อวันที่ 20 ต.ค .65 ผ่านมา โดยมีมติเสียงข้างมาก  3 ต่อ 2 เห็นว่า ควรดำเนินการตามประกาศ กสทช. ปี 61  ที่ กสทช.ไม่มีอำนาจตามกฎหมายว่าจะอนุญาต หรือไม่ เป็นเพียงรับทราบการรวมธุรกิจ และเมื่อ กสทช. ได้รับรายงานการรวมธุรกิจแล้ว  กสทช. มีอำนาจกำหนดเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภคและตลาดโทรคมนาคม

ซึ่งการลงมติพิจารณาเรื่องอำนาจนี้ มีการลงมติเสียงเท่ากัน 2 ต่อ 2 เสียง โดยประธาน กสทช.  คือ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ และ นายต่อพงศ์  เสลานนท์ กรรมการ กสทช.  ลงมติว่าไม่มีอำนาจตามกฎหมาย

ส่วน ดร. ศุภัช ศุภชลาศัย และ  ดร. พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช.  อีก 2 ท่าน ลงมติ 2 เสียง ว่ามีอำนาจพิจารณาตามกฎหมาย ขณะที่ พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. อีก 1 ท่าน ของดออกเสียง เนื่องจากยังมีประเด็นปัญหาการตีความในแง่กฎหมายจึงยังไม่สามารถพิจารณาได้อย่างชัดเจน

ส่งผลให้การลงมติ ของ กรรมการ กสทช. มีคะแนนเสียงเท่ากัน 2 ต่อ 2  ทาง นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานที่ประชุมได้ใช้อำนาจตามข้อ 41 ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ. 2555 ออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด  จึงกลายเป็นเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2  รับทราบการควบรวม ทรู – ดีแทค พร้อมกำหนดเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและการพัฒนากิจการโทรคมนาคม

พาย้อน “ไทม์ไลน์” 11 เดือน ต่อ 11 ชั่วโมง ก่อน บิ๊กดีล “ทรู-ดีแทค” จะฉลุย!!-1

วันนี้ “เดลินิวส์” จะมามาย้อนดู ไทม์ไลน์ในบิ๊กดีลครั้งนี้ ซึ่งตัวเลข 11 มาสัมพันธ์สอดคล้องกันพอดี ตั้งแต่ผู้บริหารทั้งสองบริษัทออกมาประกาศควบรวม จนถึงวันที่ กสทช.มีมติ เป็น เวลา 11 เดือน กับ ช่วงเวลาการประชุมลงมติของ บอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ที่ผ่านมา ก็ใช้เวลาประชุมพิจารณา 11 ชั่วโมงพอดี  ลองย้อนไทม์ไลน์อ่านกันได้เลย

-วันที่ 22 พ.ย. 2564   นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)และ นายซิคเว่ เบรคเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทเลนอร์ประกาศดำเนินการควบรวมบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) อย่างเป็นทางการ

ตั้งเป้าปรับโครงสร้างธุรกิจสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (Technology Company)  เสริมธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ การสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็ม และกองทุนสตาร์ทอัพ เพื่อสอดรับยุทธศาสตร์ ประเทศไทย 4.0  ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาค โดยคาดว่ากระบวนการ ในการศึกษาจะแล้วเสร็จในไตรมาสแรก ปี 65 จากนั้นจากนั้นจะมีลงนามในสัญญาที่มีผลตามกฎหมาย

-วันที่ 23  พ.ย.64  ทางเครือข่าย ผู้บริโภค  และ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ออกมาคัดค้านทันที การควบรวมทำให้ผู้บริโภค มีทางเลือกน้อยลง อำนาจการต่อรองน้อยลง การแข่งขันลดลง ทำให้เสี่ยงที่ราคาค่าบริการจะแพงขึ้น กระทบผู้บริโภค

-วันที่ 23  พ.ย. 64  คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่ง ชาติ  เชิญผู้บริหารของ ทรู  ดีแทค เข้าชี้แจงเรื่องการควบรวมครั้งนี้  สั่งให้ 2  บริษัทแจ้งความคืบหน้าให้ทาง กรรมการ กสทช.ทราบในทุกเดือน เพื่อหากเกิดปัญหาได้เตรียมการได้ทัน

-เดือน ม.ค. 65 ทรู-ดีแทค ส่งรายระเอียดแผนการควบรวมให้ทาง กสทช.พิจารณา

-วันที่ 20 เม.ย. 65   คณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ 5 ราย ประกอบด้วย นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง นางพิรงรอง รามสูต กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์  นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และนาย ศุภัช ศุภชลาศัย กสทช. ด้านเศรษฐศาสตร์ ทำพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งดำรงตำแหน่ง เข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ

-วันที่ 27  เม.ย.65 การประชุมครั้งแรกของ กสทช.ชุดใหม่  เห็นชอบแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์ เรื่องควบรวมทรู-ดีแทคจำนวน 4 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย คณะอนุกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภค และสิทธิพลเมือง คณะอนุกรรมการด้านเทคโนโลยี และคณะอนุกรรมการ ด้านเศรษฐศาสตร์

และให้จัดประชุม หรือ โฟกัสกรุ๊ป เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นใน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง กลุ่มนักวิชาการ และกลุ่มผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป  ตลอดจนมอบหมายให้ คณะทำงานของสำนักงานกสทช. และ ที่ปรึกษาเอกชน ศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ และสังคมในระยะเวลาที่เร็วที่สุด

พาย้อน “ไทม์ไลน์” 11 เดือน ต่อ 11 ชั่วโมง ก่อน บิ๊กดีล “ทรู-ดีแทค” จะฉลุย!!-2

ภาพ pixabay.com

-วันที่ 9 พ.ค.65 สำนักงาน กสทช. จัดโฟกัส กรุ๊ปต่อกรณีการควบรวมธุรกิจระหว่าง ทรูและดีแทค ครั้งที่ 1 สำหรับ กลุ่มภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง  ผู้ประกอบการเสียงแตก ทั้งเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ด้านเอไอเอส ค้านหากถึงที่สุดแล้วเรื่องนี้ทำให้ ผู้ถิอหุ้นเสียประโยชน์ ก็อาจต้องขอพึ่ง อำนาจศาลปกครองเป็นทางเลือกสุดท้าย

-วันที่ 26 พ.ค. 65 สำนักงาน กสทช. จัด  โฟกัสกรุ๊ป ครั้งที่ 2 ด้านคุ้มครองผู้บริโภค และสิทธพลเมือง ด้าน สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.)  ยืนยันไม่เห็นด้วยกับการควบรวม เนื่องจากขัดต่อกฎหมายอย่างน้อย 4 ฉบับ คือ ก.ม.รัฐธรรมนูญ  ก.ม.กสทช.  พ.ร.บ.ผู้บริโภค  และ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า  โดยหากปล่อยให้มีการควบรวม จะทำให้ผู้บริโภคจำนวน 80  ล้านเลขหมาย จะต้องจ่ายค่าบริการเพิ่มขึ้นรวม 1,760 -13,600 ล้านบาทต่อเดือน

-วันที่ 7 มิ.ย.65  สำนักงาน กสทช. จัด โฟกัสกรุ๊ป ครั้งที่ 3 กลุ่มวิชาการ ผลศึกษาอนุกรรมการฯด้านเศรษฐศาสตร์ ผ่านแบบจำลอง พบว่า ในแง่ของอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นหลังการควบรวม โดยแบ่งเป็น

1. กรณีไม่มีการร่วมมือกัน อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นในช่วง 0.05% – 0.12% 2.กรณีร่วมมือกันในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นในช่วง 0.17% – 0.34% 3.กรณีที่ร่วมมือกันในระดับสูง อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นในช่วง 0.60% – 2.07%

ส่วน สรุปผลการศึกษาอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)

1.กรณีไม่มีการร่วมมือกัน จีดีพีหดตัวลดลงในช่วง 0.05% – 0.11% คิดเป็นมูลค่าลดลง 8,244 – 18,055 ล้านบาท 2.กรณีร่วมมือกันในระดับต่ำ จีดีพีหดตัวลดลงในช่วง 0.17% – 0.33% คิดเป็นมูลค่าลดลงราว 27,148 – 53,147 ล้านบาท

3.กรณีที่ร่วมมือกันในระดับสูง จีดีพีหดตัวลดลงในช่วง 0.58% – 1.99% คิดเป็นมูลค่าลดลงราว 94,427 – 322,892 ล้านบาท

พาย้อน “ไทม์ไลน์” 11 เดือน ต่อ 11 ชั่วโมง ก่อน บิ๊กดีล “ทรู-ดีแทค” จะฉลุย!!-3


-วันที่ 30 มิ.ย.65 นายซิคเว่ เบรคเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เทเลนอร์กรุ๊ป    นัดสื่อแถลงข่าว หลังในช่วงที่ผ่านมามีข่าวลือถึงกรณีการควบรวมกับกลุ่มทรู และการจะถอนการลงทุนจากประเทศไทย  โดยยืนยันว่า เทเนนอร์ กรุ๊ป จะไม่มีการถอนการลงทุนจากประเทศไทยและยังมองเรื่องการ ทำธุรกิจออกไปในอีก 20 ปีข้างหน้า

ส่วนการควบรวมกับทรู เป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจาก การแข่งขัน ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเปลี่ยนไปคู่แข่งจะไม่ใช่แค่ บริษัทโทรคมนาคม แต่ยังมีแพลตฟอร์มระดับโลก อย่าง อเมซอน กูเกิล และ ไมโครซอฟท์ ฯลฯ

-วันที่ 22 ก.ค. 65 นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ นายซิคเว่ เบรคเก้ ประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เทเลนอร์ กรุ๊ป จัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลขนกรณีการควบรวมของ ทรู-ดีแทค    ยืนยันจากการศึกษาประกาศ กสทช.ปี 61 ทาง กรรมการ  กสทช.ไม่มีอำนาจในการอนุมัติ การควบรวมครั้งนี้ แต่มีอำนาจในการออกเงื่อนไขให้ทั้งสอง บริษัทปฎิบัติตาม เมื่อควบรวมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านต่างๆ  พร้อมยืนยันไม่ได้กดดัน กสทช.  ขอให้เร่งกระบวนการพิจารณ าตามกรอบที่กสทช.เป็นผู้กำหนด 90 วัน ซึ่งเลยมาแล้ว และหลังถูกถามจาก ผู้ถือหุ้นและนักลงทุจากทั้งในและต่างประเทศ

โดยระหว่งการแถลงข่าว มี ข่าวตามเว็บไซต์สื่อต่างๆว่า อนุกรรมการฯ ของกสทช.ได้มีมติ 3 ต่อ 1 ไม่ควรอนุมัติให้ควบรวม  ทำหุ้น ทรู-ดีแทค ตก   ด้าน สำนักงาน กสทช.ออกปฎิเสธ เป็นข่าวเท็จ กสทช  ยังไม่มีการลมติ ทาง ทรู-ดีแทค ทำหนังสือ แจ้งตลาดหลักทรัพย์ ฯ เป็นข่าวปลอม

-วันที่ 3 ส.ค. 65   ที่ประชุม บอร์ด กสทช.ให้สำนักงาน กสทช. ไปรวบรวมข้อมูลวิเคราะห์เพิ่มเกี่ยวกับ โครงสร้าง การรวมธุรกิจของบริษัทใหม่ ผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาด การถือครองคลื่นความถี่ การลดอัตราค่าบริการ ฯลฯ มาให้เสนอให้บอร์ดใหม่อีกครั้ง หลังจากเห็นว่าผลการศึกษา จากสำนักงานกสทช.  คณะอนุกรรมการ 4 คณะที่ตั้งขึ้น ยังไม่ครบถ้วน

-วันที่ 10 ส.ค. 65 ที่ประชุมบอร์ด กสทช.  วางกรอบให้สำนักงานฯ ส่งผล  ผลศึกษาเพิ่มเติมในเรื่อง โครงสร้างการรวมธุรกิจของ บริษัทใหม่ ผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาด การถือครองคลื่นความถี่ การลดอัตราค่าบริการ ฯลฯ กลับมาให้บอร์ดเพื่อใช้พิจารณา ภายใน 30  วัน

-วันที่ 23 ส.ค.  65 นายเพทาย วัฒนศิริ ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยของ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง ขออนุญาตดำเนินคดีแบบกลุ่ม หรือ Class Action  ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จำนวน 5 คน

-วันที่  24 ส.ค.65 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมีมติ 3:2 ยื่นคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ตีความอำนาจตัวเองเป็นรอบที่ 2

-วันที่ 30 ส.ค.65 นายภัทร ภมรมนตรี เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ตรวจสอบการทำงานของ กสทช.และพวก ว่าส่อเจตนาเอื้อเอกชนหรือไม่ จากกรณีทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้กฤษฎีกาพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของตน ในการพิจารณาการควบรวมธุรกิจทรู-ดีแทค เป็นรอบที่ 2

-วันที่ 14 ก.ย.65  ที่ประชุมบอร์ด กสทช. ยังไม่มีลงมติควบรวบ ทรู-ดีแทค รอ ความเห็นตอบกลับจากกฤษฎีกา เพื่อใช้ประกอบพิจารณาดีล ควบรวมทรู-ดีแทค

พาย้อน “ไทม์ไลน์” 11 เดือน ต่อ 11 ชั่วโมง ก่อน บิ๊กดีล “ทรู-ดีแทค” จะฉลุย!!-4

ภาพ pixabay.com

-วันที่ 20 ก.ย.65 สำนักงาน กสทช. ได้รับทราบหนังสือตอบกลับจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในเรื่องอำนาจของ กสทช. ในการรวม ธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค แล้ว เพื่อนำไปประกอบในการพิจารณาเรื่องการรวมธุรกิจฯ ต่อไป

-วันที่ 11 ต.ค. 65 “ทรู-ดีแทค” ยื่นหนังสือต่อ ”กสทช.” ให้เร่งรัดตัดสินควบรวมธุรกิจโดยเร็ว หวั่นธุรกิจเกิดความเสียหาย และผู้บริโภคเสียประโยชน์ ด้าน กสทช. คาดจะเร่งลงมติให้จยก่อนสิ้นเดือน ต.ค.65

– วันที่ 12 ต.ค .65 ที่ประชุมบอร์ด กสทช. มีวาระพิจารณาเรื่อง ควบรวม ทรู-ดีแทค  แต่บอร์ดมีมติ ให้ประชุมนัดพิเศษวันที่ 20 ต.ค.65 เพราะต้องรอผลศึกษาจาก SCF Associates Ltd. ที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศ เพื่อให้กรรมการ กสทช.ใช้ประกอบการพิจารณาลงมติ และคาดว่าการประชุม วันที่ 20 ต.ค.65 จะได้ข้อยุติในเรื่องนี้

– วันที่ 20 ต.ค.65 ประชุมบอร์ด กสทช.นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาลงมติ โดยใช้เวลา 11 ชั่วโมง  ทาง กสทช. มีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 รับทราบการควบรวม ทรู – ดีแทค พร้อมให้กำหนดเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บิโภค และตลาด โทรคมนาคม

จิราวัฒน์ จารุพันธ์

เชื่อมต่อ

นอกจากนี้

ดูอีกครั้งสิ